โครงการโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
โครงการความร่วมมือระหว่าง
โรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ)
สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)
หลักการและเหตุผล
โรงเรียนช่างนับว่าเป็นต้นน้ำของแรงงานที่จะเข้าสู่ระบบทรัพยากรแรงงานในการผลิตของประเทศที่สำคัญที่สุด และนับว่ามีบทบาทสำคัญในเชิงกลไกการสร้างงานและการผลิตของประเทศโดยตรง ซึ่งส่งผลตรงต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ในทางตรงกันข้ามยังส่งผลโดยตรงกับอัตราและจำนวนการประสบอันตรายของวัยแรงงานทั้งโดยตรงทั้งทางตรงบวกและทางลบ
ความสามารถในการผลิตบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่มีความพร้อมทั้งในด้านความสามารถเฉพาะที่เหมาะสมในแต่ละวิชาชีพมีศักยภาพและความชำนาญพร้อมจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยในกระบวนการทำงานประกอบวิชาชีพนั้นๆแล้ว จะนับได้ว่าโรงเรียนสามารถสร้างมืออาชีพในแต่ละสาขาวิชาชีพได้อย่างแท้จริง และจะมีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในวิชาชีพนั้นๆต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อสร้างให้มีระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ที่มีประสิทธิภาพและเป็นต้นแบบของโรงเรียนอาชีวศึกษาของประเทศไทยต่อไป
- เพื่อการบูรณาการหลักสูตรสายวิชาชีพต้นแบบทั้งในด้านหลักสูตร กระบวนการเรียนและการสอน ที่จะปลูกฝังองค์ความรู้วิชาชีพทัศนคติและจิตสำนึกที่สมบูรณ์พร้อมทั้งในด้านความสามารถในแต่ละสาขาวิชาชีพ และความปลอดภัยในการทำงาน ที่จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า และสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับตนเอง สถานศึกษา และประเทศชาติต่อไป
- เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีศักยภาพ ภาวะผู้นำและสามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานได้จริง
แนวทางการดำเนินงาน
- 1. การพัฒนาสร้างระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในโรงเรียน
1.1.จัดตั้งโครงสร้างการบริหารงานความปลอดภัย กลไกการบริหารเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และการปฏิบัติได้อย่างยั่งยืนต่อเนื่องเช่น การจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในโรงเรียน การสำรวจสถานะของระบบจัดการปัจุบัน การกำหนดเป้าหมายและกิจกรรมในระบบการจัดการอย่างต่อเนื่องเป็นต้น
1.2.การพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ของบุคลากรให้มีความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงาน ตามแนวทางของกฎหมายความปลอดภัย เช่น การอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทั้ง 3 ระดับ (จป. เทคนิคชั้นสูง จป.บริหาร จป.หัวหน้างาน)คณะกรรมการความปลอดภัยฯ และหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยในการทำงานฯ เป็นต้น
1.3.การสร้างกระบวนการเรียนการสอนในแต่ละสาขาวิชาชีพเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นที่การเข้าถึงองค์ความรู้ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถพัฒนาจิตสำนึกด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อพร้อมที่จะไปประกอบวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
- 2. การพัฒนาสภาพแวดล้อมของสถานที่ให้มีความปลอดภัยสำหรับนักเรียน คณะครู บุคลากร และผู้เยี่ยมชม ตลอดจนในการเรียนและฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ
2.1.การสำรวจอันตรายและความเสี่ยงเบื้องต้นเพื่อปรับปรุงทางด้านกายภาพพื้นฐาน และติดตั้งป้ายสัญญาลักษณ์ความปลอดภัยฯ เช่น การเตือนอันตรายพื้นต่างระดับ การติดตั้งถังดับเพลิง การขีดสีตีเส้นกำหนดจุดรวมพลในกรณีฉุกเฉิน ป้ายทางหนีไฟและเส้นทางปลอดภัยกิจกรรม 5 ส เป็นต้น
2.2.การวิเคราะอันตรายและการประเมินความเสี่ยงโดยบุคลากรที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันอันตรายที่เหมาะสมในการป้องกันอันตราย ลดความเสี่ยง และสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องเหมาะสม เช่น กฎความปลอดภัยและระเบียบปฏิบัติในพื้นที่ ป้ายเตือนและสัญลักษณ์ความปลอดภัย การติดตั้งเครื่องป้องกันอันตราย การติดตั้งฉลากเตือนอันตราย โปสเตอร์รณรงค์ความปลอดภัยและความสะอาด การจัดให้มีกิจกรรมการสนทนาด้านความปลอดภัย และ/หรือการชี้บ่งอันตรายก่อนเริ่มต้นการฝึกปฏิบัติงาน เป็นต้น
2.3.การวิเคราะห์อันตรายและจัดให้มี ใช้ จัดเก็บ และการบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับลักษณะการฝึกปฏิบัติในห้องฝึกปฏิบัติ
- 3. การพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพที่ครอบคลุมองค์ความรู้และจิตสำนึกด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งการป้องกันอันตรายที่เกี่ยวข้องและสามารถเป็นต้นแบบได้ต่อไป
3.1.อันตรายและวิธีป้องกันอันตรายในสาขาวิชาชีพโดยการพัฒนาร่วมกันกับครูผู้รับผิดชอบในรายสาขาวิชาชีพ เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและสามารถพัฒนาจิตสำนึกด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิผลผ่านกระบวนการเรียนการสอน
- อันตรายและวิธีป้องกันอันตรายด้านกายภาพ ชีวภาพ เคมี การยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเป็นต้นและการเรียนรู้จากการเกิดอุบัติเหตุจริงในแต่ละด้าน
- ความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์เครื่องมือทุ่นแรงในการทำงานและการเคลื่อนย้ายในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้รอก เครน แฮนด์ลิฟส์ เป็นต้น
- การเลือกใช้ การสวมใส่ การจัดเก็บและการบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่จำเป็นเหมาะสมกับแต่ละสาขาการเรียนรู้
- การพัฒนาจิตสำนึก และความมีวินัยและการเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยในการป้องกันอันตรายที่เกี่ยวข้อง
- การเรียนรู้ในองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่จำเป็น เช่น การเตรียมพร้อมและตอบโต้ในภาวะฉุกเฉิน การปฐมพยาบาล การตรวจความปลอดภัยก่อน/ขณะ/และหลังการปฏิบัติงาน กิจกรรมเตือนอันตรายที่เหมาะสม (การสนทนาก่อนเริ่มงาน กิจกรรมการเตือนอันตราย (KYT) เป็นต้น)
- การเรียนรู้อันตรายและสร้างเสริมประสบการณ์การทำงานในแต่ละลักษณะสถานประกอบกิจการที่ผู้จบการศึกษาต้องเข้าไปทำงาน การฝึกปฏิบัติและการดูงานในสถานประกอบกิจการจริงที่เป็นแบบอย่างได้ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการทำงาน และเกิดจิตสำนึกที่ดีที่เหมาะสมแต่ละสาขาวิชาชีพก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ตัววัดผลสำเร็จ
- โรงเรียนมีระบบจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิภาพ
- โรงเรียนมีภาพลักษณ์ที่สะอาดเรียบร้อยและปลอดภัยเป็นที่ประจักษ์ได้
- สถิติการบาดเจ็บ การเจ็บป่วยที่รุนแรง จากการฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการที่ลดลง
- สถิติการบาดเจ็บการเจ็บป่วยเล็กน้อย จากการฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการลดลง
- มีคู่มือความปลอดภัยฯ และหลักสูตรที่ได้มาตรฐานและสอดคล้องกับแต่ละวิชาชีพ
- มีสื่อการสอนที่สามารถเรียนรู้ให้เข้าใจได้ง่าย และสามารถสร้างความตระหนักได้จริง (ภาพ คลิปวีดีทัศน์ แบบจำลอง เป็นต้น)
- นักเรียนมีความรู้และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยที่ประจักษ์ได้